วิศวลาดกระบัง ร่วมกับEHEDGยุโรป ยกระดับตลาดและอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-อาหารเหลว2 แสนล้านบาท สู่มาตรฐานสากล

IMG_9030 (Medium)

ประเทศไทยนับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและได้รับความนิยมสูงไปทั่วโลกมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องปรุงอาหาร ตลอดจนเครื่องดื่มที่นอกจากบริโภคในประเทศแล้วยังส่งออกได้มากขึ้น  เฉพาะมูลค่าตลาดเครื่องดื่มอาหารเหลวของประเทศไทยปีละกว่า2 แสนล้านบาทแต่คุณภาพอาหารนั้นไม่เพียงมาจากความหลากหลายของเครื่องดื่มอาหารเหลวและรสชาติที่อร่อยเท่านั้นแต่นานาประเทศยังให้ความใส่ใจในอุปกรณ์และกระบวนการผลิตอาหารเหลวที่ต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เล็งเห็นความสำคัญของมาตรฐานเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาหารอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย จึงจัดงานสัมมนา “การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ระบบปิดในกระบวนการผลิตอาหารเหลวตามแนวปฏิบัติของEHEDG: Hygienic Design of Closed Equipment for Processing of Liquid Food”เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารสำนักงานอธิการบดีชั้น 7 สจล.โดยมีผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเครื่องดื่มและอาหารเหลวของไทยเข้าร่วมงานคับคั่ง พร้อมร่วมกันยกระดับกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานสากล รับตลาดAEC และตลาดโลก

            รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้นปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์สจล. เป็นตัวแทนภูมิภาคขององค์กรสากลEuropean Hygienic Engineering and Design Group หรือ EHEDGประจำประเทศไทย (EHEDG Thailand) หน้าที่ขององค์กรสากลEHEDGเป็นองค์กรหนึ่งในสหภาพยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความก้าวหน้าในด้านสุขอนามัยและวิศวกรรมอาหารEHEDGเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านการผลิตอาหาร การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมถึงองค์กรเพื่อสุขภาพEHEDG เป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ (EHEDG guidelines) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวทางและสามารถปฏิบัติตามกฎหมายของยุโรปได้ นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมให้ข้อกำหนดและแนวปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก EHEDG มีบทบาทในการกำหนดแนวปฏิบัติและให้การรับรองอุปกรณ์วิศวกรรม เครื่องมือเครื่องจักรในกระบวนการผลิตอาหารอย่างมีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานISO 14159 และEN 1672-2โดยEHEDG Thailandได้จัดทำคู่มือEHEDG Guidelines Vol.2เกี่ยวกับเกณฑ์การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องมือตามหลักสุขลักษณะ ประกอบด้วยแนวปฏิบัติด้านการออกแบบอุปกรณ์แปรรูปอาหารเหลวในระบบปิดตามหลักสุขลักษณะ เช่น ปั๊ม ถังผสม ถังเก็บ ระบบเดินท่อ,ข้อกำหนดทางด้านสุขอนามัยของวาล์วสำหรับกระบวนการแปรรูปอาหาร,การต่อท่อแบบคัปปลิงตามหลักสุขลักษณะ และการออกแบบปั๊มโฮโมจิไนเซอร์และอุปกรณ์แดมพ์เพนนิ่งตามหลักสุขอนามัย ปัจจุบันองค์กรสากล EHEDG มีสำนักงานในภูมิภาคต่างๆเช่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ กลุ่มประเทศนอร์ดิค โปแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และกำลังขยายไปยังปรทศในเอเซียและยุโรปตะวันออกวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการและบุคคลที่เกี่ยวข้องตื่นตัวในเรื่องของมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารที่เคร่งครัดมากขึ้น โดยการส่งออกอาหารไปยังต่างประเทศนอกจากเรื่องการกีดกันทางด้านภาษีนั้น ก็มีการเข้มงวดในมาตรฐานการผลิตอาหารด้วยโดยความเป็นมาขององค์กร EHEDG เนื่องด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประชาชนในหลากหลายอาชีพนอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำรงชีวิตของประชาชนซึ่งควรได้รับการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย”

ดร.เกียรติศักดิ์ รุ่นพระแสงรองคณบดีและอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การสัมมนาผู้ประกอบการอาหารเหลว เรื่อง “การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ตามแนวปฏิบัติของEHEDG: Hygienic Design of Closed Equipment for Processing of Liquid Food”ครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและจากประเทศไทยมาเป็นวิทยากรให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย ได้แก่ Prof.Dr.GerhardSchleiningจากUniversity of Natural Resources and Life Sciences เวียนนา ประเทศออสเตรีย, คุณวรปัญญาสุธานุภาพวุฒิคณะกรรมการ EHEDG Thailand และบริษัท พัฒน์กล จำกัด(มหาชน) และคณะอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. คือ รศ.ดร. นวภัทรา หนูนาค, รศ.ดร. ทวีพล ซื่อสัตย์ และดร.เอกพงษ์ ชีวิตโสภณเนื้อหาสัมมนาครอบคลุมสาระสำคัญของแนวทางEHEDG Guidelines Vol. 1 และ Vol2, กรณีศึกษากระบวนการผลิตอาหารในสหภาพยุโรป,การออกแบบระบบแปรรูปอาหารเหลวตามหลักสุขลักษณะและแนวปฏิบัติของ EHEDG ที่เกี่ยวข้อง และการทำความสะอาดอุปกรณ์ในระบบปิดตามหลักสุขลักษณะ(Cleaning in place; CIP)และแนวปฏิบัติของ EHEDG ที่เกี่ยวข้อง

 

รศ.ดร. นวภัทรา หนูนาคประธานEHEDG Thailand กล่าวว่า  “ในทวีปเอเซียนั้น ประเทศไทยนับเป็นสาขาขององค์กรEHEDG แห่งที่ 2 นับจากเปิดแห่งแรกในญี่ปุ่น เนื่องจากเราเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเพื่อผู้บริโภค เป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางกระแสความปลอดภัยด้านอาหารและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรง ประเทศผู้ค้าต่างกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารต่าง ๆ เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และเป็นข้อต่อรองทางการค้า ซึ่งนับวันมาตรฐานเหล่านี้จะทวีความเข้มงวด และส่งผลให้การแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมอาหารไทยจึงต้องปรับตัวพร้อมรับมือกับการขยายโอกาสทางการตลาดในอนาคตผู้ประกอบการไทยทั้งด้านผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าเครื่องจักรอุปกรณ์ควรใส่ใจและเร่งพัฒนาอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ต้องไม่ถูกปนเปื้อนในระหว่างกระบวนการผลิต โดยใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ออกแบบอย่างถูกหลักสุขลักษณะและถูกหลักทางวิศวกรรมตามมาตรฐานความปลอดภัยที่สําคัญเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาหารได้แก่ มาตรฐาน ISO 14159 และEN 1672-2 ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมาตรฐาน ISO 22000ซึ่งองค์ประกอบข้อหนึ่งคือ การกําหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการออกแบบและการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารให้ถูกหลักสุขอนามัยหรือเรียกว่า Hygienic Engineering Designความสำคัญยังรวมไปถึงการออกแบบและติดตั้งให้ถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม จากความสำคัญดังกล่าว หลายองค์กรจึงเข้ามามีบทบาทในการกําหนดแนวปฏิบัติ เช่น FDA, GMP, ASME, 3-A และ EHEDG (European Hygienic Engineering and Design Group)  เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้รับ Logo EHEDG แสดงถึงอุปกรณ์นั้นได้ผ่านการออกแบบและทดสอบตามมาตรฐานทางด้านสุขอนามัย อย่างไรก็ตามเมื่อนำไปติดตั้งใช้งานต้องพึงระวังและปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการติดตั้งที่ดี เพื่อการผลิตอาหารปลอดภัยลดโอกาสของการปนเปื้อน

ในประเทศไทยตลาดเครื่องดื่มและอาหารเหลว (Liquid Food) มีการขยายตัวเร็วโดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2 แสนล้านบาท แยกย่อยเป็นตลาดดนมพร้อมดื่มสูงราว 2.53 หมื่นล้านบาท ตลาดน้ำอัดลมมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท เครื่องดื่มชูกำลังมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท น้ำดื่มมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ตลาดชาเขียวมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาทและอาหารเหลวทุกชนิด ยาน้ำ เป็นต้น และมีแนวโน้มเติบโตอีกมากโดยเฉพาะหลังเปิดประชาคมอาเซียนซึ่งจะมีขนาดตลาดประชากร 630 ล้านคน ความตื่นตัวของผู้ประกอบการไทยในการร่วมประชุมสัมมนา“การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ระบบปิดในกระบวนการผลิตอาหารเหลวตามแนวปฏิบัติของEHEDG: Hygienic Design of Closed Equipment for Processing of Liquid Food”ครั้งนี้จำนวนมาก ประกอบด้วยผู้บริหารอุตสาหกรรมอาหารและยา ผู้ปฏิบัติฝ่ายควบคุมคุณภาพฝ่ายควบคุมการผลิต วิศวกร ช่างเทคนิคโรงงานผลิตอาหารและยา วิศวกรด้านการออกแบบและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ในระบบการผลิตอาหารและยา ผู้ดูแลระบบผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมอาหารและยา ผู้ผลิต เครื่องมือเครื่องจักร บริษัทผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูปอาหารและยา บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบ ติดตั้งเครื่องจักรและการวางผังโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง”

ติดต่อผศ.ดร. นวภัทรา หนูนาค (Chairperson of EHEDG Thailand) 083-770-7652, สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังโทร : 02-329-8356-8  E-mail: ehedg@kmitl.ac.th  หรือEHEDG CENTER: http://www.ehedg.org

w027