งานอัครนวัตกร…70 ปีแห่งการครองราชย์

ddrqrrq-1

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี และ รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา ศิษย์เก่า สจล. ร่วมเป็นประธานเปิดงานวัน “อัครนวัตกร…70 ปีแห่งการครองราชย์” พร้อมตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร 400 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล วัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ของประชาชนผู้ทรงเป็นอัครนวัตกรผู้ยิ่งใหญ่  ส่งเสริมให้เยาวชนไทยดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท และรำลึกวาระครบรอบ 40 ปี แห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยและแรงพลังขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่ความเจริญก้าวหน้า

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ องค์ในหลวงแห่งปวงไทยทรงเป็นนวัตกรผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทยและของโลก ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนและคนรุ่นหลังในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยทรงงานด้วยความรักความห่วงใยต่อประชาชนและยึดในประโยชน์ของส่วนรวม ทรงงานด้วยพระปรีชาญานที่รอบด้านโดยผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติจริง ดังที่เราจะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงใช้แผนที่ ข้อมูลและภาพถ่าย การเสด็จลงพื้นที่ต่างๆแม้จะมีความยากลำบากและเสี่ยงต่ออันตราย  ทรงใส่พระทัยในองค์ความรู้และวิทยาการต่างๆอย่างไม่หยุดนิ่งและรอบด้าน ทรงริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหาอย่างองค์รวมและยั่งยืน ไม่เพียงสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีเท่านั้น  เช่น ฝนหลวง กังหันชัยพัฒนา ทฤษฎีแก้มลิง เป็นต้น แต่ยังทรงสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่อำนวยประโยชน์ต่อโลก มนุษยชาติ การดำรงชีวิต สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและนำไปใช้แพร่หลายทั้งในการดำเนินวิถีชีวิตส่วนบุคคลและการดำเนินงานขององค์กรได้ทุกระดับ

          ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา และศิษย์เก่า สจล.  มาย้อนอดีตเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงและความเป็นอัครนวัตกรของพระองค์ด้วยพระปรีชาญาน  ทรงคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ความอุดมสมบูรณ์และความสถาพรของแผ่นดินไทย  ย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความยากลำบากและยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าในปัจจุบัน โทรศัพท์มีใช้เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติงานของทหารตำรวจหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ต้องใช้วิทยุสื่อสารขนาดเล็กที่พอจะทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะปัญหาขาดสายอากาศคุณภาพสูง

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการวิทยุสื่อสาร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนา “การสื่อสารทางวิทยุและสายอากาศ” โดยได้ รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ เป็นผู้สนองพระราชดำริในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศและอิเล็กทรอนิกส์  รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์  นักวิทยาศาสตร์ได้ถวายงานออกแบบคำนวณและวิจัย “สายอากาศสนองพระราชดำริ” ต่อมามีนามพระราชทานสายอากาศ  “สุธี 1 – สุธี 2 – สุธี 3 – สุธี 4” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้สายอากาศทั้ง 4 แบบนี้ไว้ในราชกิจจานุเบกษา และสายอากาศสุธียังได้เป็นหนึ่งในลายของ “แสตมป์ที่ระลึก” ชุด “พระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม” อีกด้วย

ddrqrrq-2 ddrqrrq-3 ddrqrrq-4 ddrqrrq-5