คลิปรณรงค์ให้คนไทยไม่เพิกเฉยต่อการกระทำที่รุนเเรงต่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีไทย

เนื่องในโอกาส “1 สิงหา วันสตรีไทย” มูลนิธิเพื่อนหญิง ในฐานะเป็นองค์กร พัฒนาเอกชนที่ทำงาน ช่วยเหลือเด็กและสตรี มากว่า 35 ปี ร่วมกับ  เพจลูกผู้ชายไม่ข่มขืน และ กลุ่มจิตอาสารวมกันเฉพาะกิจเพื่อผู้หญิง ร่วมกันจัดเวทีเสวนา อย่าเพิกเฉยกับเสียงร้องของผู้หญิง”  ขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2559  ณ  ห้องออดิ The Connecion Seminar Center

โดย คุณพัชรี ไหมสุข หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการถูกล่วงละเมิดทางเพศของมูลนิธิเพื่อนหญิง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ( 2556–2558) มีผู้มาขอรับบริการ รวมทั้งสิ้น 6,254 ราย  อันดับ 1  ความรุนแรงในครอบครัว อันดับ 2  การละเมิดทางเพศ อันดับ3  ท้องไม่พร้อม และพบว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรง ร้อยละ 70 เป็นคนใกล้ชิด แฟน อดีตสามี สามี สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านรู้จัก เจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลผลการให้บริการในศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน ในปี 2556 สถิติบริการเพิ่มเป็น 31,866 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 87 ราย และจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีคดีเกี่ยวกับเพศ 6,848 คดี จับกุมได้ 4,401ราย ฆ่าข่มขืน 7 ราย

จากการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาวิกฤติความรุนแรง พบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง กระบวนการยุติธรรม แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 ตัวของผู้เสียหายที่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เหตุเพราะความยากจน ขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ได้ตระหนักในเรื่องสิทธิของตน ความกลัวต่ออิทธิพลของครู่กรณีจึงไม่อยากมีเรื่อง

ส่วนที่ 2 ตัวของผู้กระทำที่มีทั้งผู้มีอิทธิพล มีอำนาจ มีฐานะ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ส่วนที่ 3 ส่วนของกลไกรัฐ เช่น ความล่าช้า การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับโทษตามกฏหมาย การได้รับการลดโทษทำให้ผู้กระทำไปกระทำผิดซ้ำอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฏหมาย

ส่วนที่ 4 สังคมโดยรวมที่มีความเพิกเฉย ต่อปัญหาเด็กและผู้หญิง มีทัศนคติที่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว  เมื่อเกิดเหตุกับผู้หญิงสังคมมักจะกล่าวโทษหรือตีตราว่าเป็นความผิดของผู้หญิง ที่ไม่รู้จักระมัดระวังตัว การกล่าวหาว่าแต่งตัวล่อแหลม ในขณะที่สังคมไม่เคยสร้างความตระหนักหรือเรียกว่าผู้ชายควรต้องให้เกียรติ ไม่ฉวยโอกาส ไม่ทำร้ายผู้หญิงไม่ว่าด้วยเหตผลใดๆทั้งสิ้น  เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

คุณฐานิดา นิรุตติ เจ้าของเพจ ลูกผู้ชายไม่ข่มขืน กล่าวว่า การข่มขืนไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่เลือกชนชั้นวรรณะใดๆ เพศหญิงชาย วัยใด ก็สามารถเป็นเหยื่อ จากสถิติต่าง ๆ ข้อมูลคดีข่มขืนจากหลายๆ ประเทศไม่เคยมีมาเลยว่า คดีการข่มขืนลดน้อยลง และที่น่าใจหายมากที่สุดคือ คดีที่เกิดจากคนใกล้ตัวและคนในครอบครัวจะมีมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่นักวิชาการ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องการแก้ไขอย่างยั่งยืนจนเกิดความสะเทือนใจกับประชาชนและเหยื่อ รวมถึงครอบครัวผู้เสียหายที่ผิดหวังว่า ทำไมผู้กระทำผิดจึงรอดมือกฎหมาย การประหารไม่ได้ ทำให้อาชญากรลดน้อยลง การไม่สร้างหรือการไม่เปิดโอกาสให้ใครสักคนได้เป็นอาชญากร สำคัญยิ่งกว่า ลดเหยื่อ ลดอัตราการเสี่ยงสังคมดีเพราะคุณเป็นคนเริ่ม เราสามารถลดอัตราการเกิดอาชญากรและเหยื่อได้จากครอบครัวของเราเอง ปลุกและปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นลูกผู้ชาย ไม่ใช้ความรุนแรง เคารพและให้เกียรติเพศหญิง และ ผู้อื่น รู้จักการดูแลตนเองให้ความรู้เรื่องของเพศให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ดูแลสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็ก สื่อต่าง ๆ ก็มีส่วนเป็นอย่างมาก วินัยเริ่มที่บ้านสอนลูกหลานให้จดจำ เป็นกระบวนการจัดการกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย
เสียงร้องของเหยื่อที่คุณไม่เคยได้ยิน หลายเหตุการณ์ ที่เหยื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ประสบเหตุไม่มีความรู้มากพอ และ ไม่มีความปลอดภัย รวมไปถึงความกลัวต่ออันตรายต่าง ๆ สังคมไทยมีน้ำใจ เราจึงต้องให้ความรู้เบื้องต้นในการช่วยเหลือเหยื่อ หรือ ช่วยเหลือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้นกหวีด การโทรแจ้ง 191 จนถึงศิลปะการป้องกันตัว
เพจลูกผู้ชายไม่ข่มขืน เห็นความสำคัญของครอบครัวเป็นหลัก ส่วนในบทของการลงโทษ และ การนำเสนอจากสื่อ กลายเป็นดาบสองคม ทำให้อาชญากรไม่ลดลง ตรงนั้นต้องไปสู่กระบวนการปฏิรูปตำรวจ
แต่ทางเพจ ยังคงขอความร่วมมือลงชื่อ ขอบังคับใช้กฎหมายไม่ลดโทษ ไม่ปล่อยตัวนักโทษคดีข่มขืนทุกกรณี เนื่องจากพ้นโทษแล้วก่อคดีซ้ำยังคงมีให้เห็น และ ทางภาครัฐไม่สามารถควบคุมผู้พ้นโทษเหล่านี้ได้ค่ะ

คุณปรารถนา จริยวิลาศกุล ตัวแทน กลุ่มจิตอาสารวมกันเฉพาะกิจเพื่อผู้หญิง กล่าวถึง แรงบันดาลใจที่รวมตัวเพื่อนๆ จิตอาสา ทำคลิปวีดีโอ “อย่าเพิกเฉยกับเสียงร้องของผู้หญิง” ว่า ทุกๆ ครั้งที่มีข่าวผู้หญิงถูกทำร้าย ก็สะเทือนใจทุกครั้ง นับวันก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจากที่ได้พูดคุยกับพี่ๆ มูลนิธิเพื่อนหญิง ก็พบว่า หลายต่อหลายครั้งที่ผู้หญิงถูกทำร้าย จะมีคนเห็นหรือได้ยิน แต่ผู้หญิงกลับได้รับความเพิกเฉย จึงมีความคิดว่า หากคนไทยไม่เพิกเฉย และรู้วิธีการช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายได้ เราอาจจะช่วยชีวิตของผู้หญิงได้อีกมาก…. จึงปรึกษากับเพื่อนๆ ที่รู้จักกันและทำงานในแวดวงเดียวกัน คือการผลิตสื่อและการสื่อสาร คือ คุณอมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบท, Harsee Production ผู้ออกความคิดสร้างสรรค์และผลิตสื่อ, คุณ Ging Maliwan ศิลปินด้านภาพ และ IDEA POP ผู้เชี่ยวชาญด้าน digital, online และ social media ว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนได้ฉุกคิดและรู้วิธีปฏิบัติเวลาเจอผู้หญิงถูกทำร้าย ซึ่งทุกคนก็ทุ่มเทมอบสิ่งที่ตนเองถนัด รวมถึงสละทรัพย์และเวลาส่วนตัว เพื่อมาร่วมกันทำคลิปวีดีโอชุดนี้ มอบให้กับมูลนิธิเพื่อนหญิง ด้วยศรัทธาในความมุ่งมั่นและสิ่งที่มูลนิธิฯ ทำมาตลอดกว่า 35 ปี “ขอฝากพี่ๆ สื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับคลิปวีดีโอนี้ด้วยนะคะ พวกเราหวังเพียงว่า หากมีผู้หญิงสักคนที่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งหนึ่งได้เคยดูคลิปนี้ พวกเราก็อิ่มเอมใจแล้วค่ะ”

 

คุณธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากหลายๆ กรณี ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัวของผู้หญิงโดยตรง ยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย ดังนั้นเราจึงมีข้อเรียกร้องต่อสังคมและทุกภาคส่วนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดและการคุกคามทางเพศ ในอันที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน เนื้อตัวร่างกายของเด็กและสตรี

หนึ่ง: ขอให้ประชาชนตระหนัก เห็นความสำคัญ และหาทางช่วยเหลือ เมื่อพบเห็นเด็ก สตรี ถูกทำร้ายหรือได้ยินเสียงร้องความช่วยเหลือ เพราะ   เฉย = ช่วยทำร้าย เฉย = ผู้หญิงบาดเจ็บ เฉย  =ผู้หญิงพิการ  เฉย = ผู้หญิงเสียชีวิต

สอง: ขอให้กระบวนการยุติธรรมทุกกลไกในคดีข่มขืนกระทำชำเราทุกกรณีต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และใช้บทกำหนดโทษในการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดขั้นสูงสุด มิให้มีการลดโทษ ไม่ว่าจะมีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือรับสารภาพด้วยยอมจำนนด้วยหลักฐานหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้กฎหมายมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาความผิดกรณีข่มขืนหนักเบาต่างกันไป ตามการกระทำของผู้กระทำผิด

สาม: กรมราชทัณฑ์  กระทรวงยุติธรรม ต้องเพิ่มและหามาตรการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ และมาตรการ  คุมประพฤติที่ได้มาตรฐานสากล ให้กับผู้กระทำความผิดทั้งช่วงที่อยู่ในขณะที่รับโทษ  และ เมื่อได้รับการปล่อยตัว เพื่อป้องกันการมากระทำความผิดแบบซ้ำซาก และจะต้องมีการทำรายงานแจ้งรายชื่อผู้พ้นโทษไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อ เตรียมความพร้อม ผู้เสียหาย ป้องกัน การถูกคุกคาม หรือ การกลับมาข่มขืนกระทำชำเราซ้ำต่อผู้เสียหาย

 

สี่: ขอให้รัฐบาลโดยฯพณฯนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมปฏิรูปการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด ฐานข่มขืนกระทำชำเราล่วงละเมิดทางเพศ อนาจาร โดยใช้มาตรการทางสังคม เข้าบำบัด ฟื้นฟู ปรับฐานคิด สร้างจิตสำนึกให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวกลับใจ เพื่อไม่ให้ออกมากระทำความผิด หรือก่อความเสียหายต่อชีวิตของเด็กสตรี

ห้า: ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกิจกรรม ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง ผู้เคยกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนและครอบครัว โดยเฉพาะองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ติดตามการดำเนินชีวิต อาชีพ โดยการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะๆเพื่อประโยชน์ในการติดตาม วิถีการดำเนินชีวิตของผู้เคยกระทำความผิด และการให้ความช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ สามารถ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีไม่ก่ออันตรายให้แก่สังคม

 

หก: ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคร่งครัด กำชับไม่ให้มีการยอมความในกรณีคดีทางเพศ ที่ร้ายแรง สะเทือนและกฎหมายระบุว่ายอมความไม่ได้  ในทุกคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ และขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานชำนาญพิเศษ ศูนย์พิทักษ์เด็กสตรีคดี เพศ ครอบครัว ค้ามนุษย์ ให้ขึ้นอยู่ภายใต้ การดูแลของกองบังคับการทุกจังหวัด มีกำลังพลและอุปกรณ์ เพื่อการทำงาน และขอให้แต่งตั้ง พนักงานสอบสวนหญิง มารับผิดชอบงานในส่วนนี้ เนื่องจาก ผู้เสียหายส่วนมากเป็นเด็กและสตรี

 

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณพัชรี ไหมสุข มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-513-1001