กระทิงแดงสปิริต เปิดตัว “กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน บ้านบางแตน” โชว์ข้าวอินทรีย์รุ่นแรก ลุยสร้างชุมชนเข้มแข็ง

K-1--00685

กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังปักหมุดพื้นที่รอบโรงงาน 13 หมู่บ้าน ใน ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ได้ 33 ครอบครัวแนวร่วม ผนึกกำลังสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน
บ้านบางแตนสำเร็จ สมาชิกตบเท้าเข้าอบรมตามหลักสูตรเกษตรอินทรีย์กับภาคีเครือข่ายของกระทิงแดง ฤดูกาลแรกเปิดพื้นที่กว่า 203 ไร่ ลด ละ การใช้สารเคมีทันฤดูกาลผลิต  พร้อมเก็บเกี่ยวข้าว 77,480 ก.ก. (77.48 ตัน) มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ขยายฐานสมาชิกอย่างเข้มแข็ง เดินหน้าขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

นายสราวุฒิ  อยู่วิทยา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เผยถึงกิจกรรมเปิดตัว กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน บ้านบางแตน ว่า “กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งทุกกิจกรรมที่ได้ดำเนินการ ล้วนแต่มุ่งผลักดันสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองได้และยั่งยืนอย่างแท้จริง

โครงการเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน ที่บ้านบางแตน กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงได้เริ่มต้นจากการหาแนวร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ หาผู้ที่มีแนวคิดในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ พร้อมที่จะ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เสริมสร้างสุขภาพแก่เกษตรกร ชุมชนและสังคม ด้วยแนวนโยบายที่เราเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย จนได้เกษตรกรแนวร่วม 33 ครัวเรือน เข้ามารับการอบรมตามเงื่อนไขโครงการ 2 หลักสูตร จากภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจึงจัดตั้งคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนบ้านบางแตนขึ้น ราวเดือนกันยายน 2558 เพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิก เขียนแผนการจัดตั้งกลุ่มฯ โดยมีเป้าหมายคือการผลิตข้าวอินทรีย์ จนกระทั่งสามารถสร้างตราสินค้าของกลุ่มฯ ให้สำเร็จ

หลังจากที่ทุกคนเข้ารับการอบรม 2 หลักสูตร ทั้งหลักสูตรการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว และหลักสูตรกระบวนการจัดตั้งกลุ่ม  สมาชิกต้องนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรม มาปรับใช้บนที่นาของตน โดยทุกขั้นตอนเกษตรกรจะได้รับคำปรึกษาแนะนำจากภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เช่น ปัญหาในพื้นที่บ้านบางแตน เรื่องน้ำท่วม ดินเปรี้ยว น้ำแล้ง ไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตตอบสนองได้ดีในพื้นที่ ภาคีเครือข่ายจาก มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่จนไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว หรือเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม จะมีภาคีเกษตรอินทรีย์ บ้านกุดชุม ยโสธร ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องกลุ่ม มาเป็นพี่เลี้ยงให้

ในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากปัญหาดินเปรี้ยว น้ำแล้ง และเมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรยังประสบปัญหากับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งร้อนจัด หนาวจัด บางพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้เกิดแมลงชนิดใหม่ระบาดในพื้นที่ ทั้งในนาเคมีและนาอินทรีย์  แต่ด้วยองค์ความรู้ที่กลุ่มสมาชิกได้รับการอบรมกับภาคีเครือข่ายมานั้น จึงได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม นำเอาวิธีการกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชมาปรับใช้ในที่นาของตน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรสมาชิกไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังสามารถเก็บเกี่ยวได้ นับเป็นมิติใหม่ของพลังกลุ่มที่สมาชิกได้ทำงานและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น

ระหว่างการเพาะปลูกข้าวในฤดูกาลแรกนี้ กลุ่มฯ จะมีกติกาดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งคณะกรรมการของกลุ่มจะลงแปลงเพื่อตรวจสอบร่วมกับทีมของกระทิงแดง ภายใต้มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) จำนวน 23 ข้อ ให้การรับรองแปลงนาของสมาชิก ซึ่งในฤดูกาลผลิตแรกนี้ยังเป็นระยะปรับเปลี่ยนที่ 2 ปี โดยเกษตรกรจะต้อง ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ฮอร์โมนพืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งผลผลิตที่ได้กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจะให้การอุดหนุนเกษตรกร 1 บาท : 1 กิโลกรัมข้าวเปลือก และอีก 0.5 บาท : 1 กิโลกรัมข้าวสารสำหรับอุดหนุนเข้ากลุ่มฯ ให้สามารถนำเงินดังกล่าวไปบริหารจัดการกลุ่มฯ ได้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจะให้การสนับสนุนต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สมาชิกสามารถหาตลาดสินค้าของกลุ่มฯ ได้ ส่วนในระยะเริ่มต้นนั้นผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่ง เกษตรกรสมาชิกจะเก็บไว้ทานเอง หลังจากที่ไม่เคยทานข้าวที่ปลูกเองเพราะกังวลผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในแต่ละรอบการผลิต อีกส่วนหนึ่งเกษตรกรจะเก็บไว้ทำพันธุ์ข้าวปลูก โดยพันธุ์ข้าวที่ปลูกในกลุ่ม ค่อนข้างหลากหลายเพราะกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่บ้านบางแตน ฤดูกาลแรกนี้  เกษตรกรได้ทดลองใช้พันธุ์ข้าว สะมากีตาร์,ไรซ์เบอร์รี่,หอมปทุม,มะลิ 105 ,พันธุ์ 81 ,กข91,57 และข้าวหอมนิล ตอนนี้ปริมาณข้าวที่เหลือของรอบผลิตนี้มีไม่มาก ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการจัดการของกลุ่ม ว่าจะมีการพิจารณาหาข้อสรุปในการดำเนินการ ว่าจะทำอย่างไร โดยกระทิงแดงจะคอยเป็นพี่เลี้ยงจนกระทั่งกลุ่มสามารถบริหารจัดการได้ในที่สุด ซึ่งสมาชิกทั้ง 33 ครัวเรือน มีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างจริงจัง  โดยเริ่มพื้นที่เพาะปลูกแนวอินทรีย์อยู่ที่ 203 ไร่ ได้ผลผลิตรุ่นแรกอยู่ประมาณ 77.48 ตัน เฉลี่ย  380 กิโลกรัม/ ไร่ ในขณะที่ข้าวเคมีจะให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 430 -450 กิโลกรัม/ไร่ แต่เกษตรกรจะมีต้นทุนต่อการผลิตสูงกว่านาอินทรีย์มากคือนาเคมีจะอยู่ที่ประมาณ 4,000- 5,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่นาอินทรีย์ หากเกษตรกรทำเต็มระบบแล้วจะอยู่ที่ 1,500 – 2,000 บาทต่อไร่ และเมื่อเทียบผลผลิตที่ได้เกือบเท่ากันต่อไร่นั้น การทำนาแบบอินทรีย์ถือว่ามีต้นทุนการผลิตที่น้อยลงถึง 50% และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ สุขภาพที่ดีขึ้นของเกษตรกรทุกคน

สำหรับเป้าหมายต่อไปเพื่อให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน บ้านบางแตน ขับเคลื่อนภารกิจได้สำเร็จลุล่วง คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้กลุ่มสามารถจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแบบเต็มรูปแบบ ยกระดับมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต เข้าสู่มาตรฐานการรับรอง ผลักดันไปสู่ตลาด  โดยกลุ่มกระทิงแดงตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี สมาชิกในกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ของพื้นที่เพาะปลูก และในระยะยาวอยากให้พื้นที่นี้เป็น ต้นแบบ เพื่อขยายองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้ ส่วนเป้าหมายฤดูกาลผลิตรอบสอง หลังจากที่กลุ่มมีการจัดการในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนแบบเต็มรูปแบบแล้ว จะมีการเพิ่มสมาชิกกลุ่ม ขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้น เพื่ออย่างน้อยข้าวอินทรีย์คำแรกที่คนบ้านบางแตนได้กินนี้จะเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชุมชนต้นแบบ และจะเป็นแรงผลักดันเพื่อให้ชุมชนเดินหน้าพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงต่อไป”

K-1--00702