STC เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ ผลิตนวัตกรรมรองรับลูกค้า 11 ล้านคน

STC เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ผลิตนวัตกรรมรองรับลูกค้า 11 ล้านคน

จากการประเมินสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงพบว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี 2561 และมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเด็กคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 8 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ความต้องการนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุมีความสำคัญมาก จากตัวเลขของภาครัฐพบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน ทำให้ความต้องการในเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุมีเพิ่มสูงขึ้น

“ผู้สูงอายุเขาไม่เหมือนกับวัยหนุ่มสาวอีกต่อไปการจะทำอะไรก็ทำได้ยากขึ้น การมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะจึงเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศได้เป็นอย่างดี สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้รองรับความต้องการของผู้สูงอายุ โดยในปี 2561-2562 ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามได้เริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกสู่สังคมหลายชิ้นด้วยกัน” ดร.ฐกฤต ปานขลิบ กล่าว

 

สำหรับนวัตกรรมชิ้นแรก คือ อุปกรณ์ติดตามตัวหรือติดตามของหายที่เรียกว่า STC-Tile ซึ่งอุปกรณ์ติดตามตัวนี้ไม่เพียงแต่ใช้สำหรับติดตามสิ่งของหรือแม้แต่ตัวผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารกันเองในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะได้มีกิจกรรมทำกันและไม่เหงาเพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในกลุ่มเดียวกัน

 

นวัตกรรมชิ้นที่สอง คือ เตียงผู้ป่วยและผู้สูงวัยอัจฉริยะ นวัตกรรมนี้เกิดจากแนวคิดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ต้องการให้วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามช่วยวิจัยและพัฒนาเตียงผู้ป่วยธรรมดาให้ไม่ธรรมดา สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานและแพทย์เจ้าของคนไข้ได้ ฯลฯ ทำให้แพทย์และพยาบาล สามารถติดตามและดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นวัตกรรมอีกชิ้น คือ สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยอัจฉริยะ นวัตกรรมนี้เป็นการต่อยอดจากสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ โดยสายรัดข้อมือนี้จะวัดความเคลื่อนไหว สุขภาพของผู้สวมใส่ ทั้งการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ฯลฯ หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปที่ Application ของแพทย์ประจำตัวของผู้สูงอายุ ซึ่งแพทย์ก็จะทราบถึงสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ติดตามอยู่ว่าเป็นเช่นไร โดยนวัตกรรมที่กล่าวมาจะทยอยออกสู่สายตาประชาชนในกลางปี 2561 และปี 2562

 

“ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจริงเอาจังกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุหลายคนสั่งสมประสบการณ์ที่มีคุณค่าไว้มากมาย ยังทำงานได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางครั้งความไม่พร้อมของร่างกายทำให้เขาทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมรองรับ จะช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นดีขึ้น ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป”  ดร.ฐกฤต ปานขลิบ กล่าวทิ้งท้าย