ศศป.เตรียมจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 8 ชูแนวคิด “เล่าขานตำนานหัตถศิลป์ สู่วิถีชีวิตปัจจุบัน” คาดมีรายได้จากการจัดงานกว่า 20 ล้านบาท

lossgo2

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศศป. กล่าวว่า ศศป. เตรียมจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 เพื่อร่วมสืบสาน ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล และเพื่อเป็นการขยายโอกาส เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับงานศิลปาชีพ

“จุดประสงค์สำคัญหนึ่งของการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยาม คือการสนับสนุนผลงานหัตถศิลป์ไทยจากท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจากการจัดงานที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เล่าขานตำนานหัตถศิลป์ สู่วิถีชีวิตปัจจุบัน” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความสอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของ ศศป. ในการสร้างคุณค่า และความงดงามของหัตถศิลป์ไทยให้สามารถดำรงอยู่ และมีการพัฒนาสอดคล้องกับวิถีชีวิตได้เสมอ หรือ Today Life’s Crafts โดยในครั้งนี้จะมีความพิเศษกับการเชิดชูงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย (Revival of the Forgotten Heritage) เพื่อส่งเสริมคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมให้อยู่คู่กับคนไทย พร้อมกันนั้น ในการจัดงานครั้งนี้ ยังเลือกสรรผลงาน ที่มีความร่วมสมัย และที่สำคัญคือเหมาะสม สามารถประยุกต์เข้ากับการใช้งานในปัจจุบัน และในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ภายในงานยังสามารถรับชมการสาธิต พร้อมร่วมเวิร์คช็อป หัตถกรรมดั้งเดิมและร่วมสมัย    พบการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ โดยเป็นสินค้าที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน กว่า 50 ร้าน จากทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดงานกว่า 20  ล้านบาท” นางอัมพวัน กล่าว

งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 8 กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27 – 30 เมษายน 2560 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 และไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โทร 035 367 054-6 ต่อ 1374 หรือสายด่วน 1289 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sacict.or.th หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ “อัตลักษณ์แห่งสยาม” และอินสตาแกรม SIAMIDENTITY_EVENT