STC” พร้อมเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า แห่งแรกย่านจรัญสนิทวงศ์ ปลายปี 2561

STC 1

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) พร้อมเปิดบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า แห่งแรกย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดขึ้น คาดพร้อมเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า ปลายปี 2561 เพื่อให้บริการประชาชนทั่วไป และบุคลากรในวิทยาลัยฯ 

 

อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวถึงโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ที่มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตามที่สภาปฎิรูปแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการรับรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ทางกระทรวงพลังงานได้มีมติที่จะส่งเสริมการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า และจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษาของรัฐ และหน่วยงานเอกชน ซึ่งจะดำเนินการสนับสนุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100 สถานีภายใน 3 ปี เพื่อนำร่องรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ภายใต้ชื่อ “โครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า” หรือ Charging Station

 

ทาง STC ได้ตระหนักถึงนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จึงได้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าหวังรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคณะเทคโนโลยี STC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารอบที่ 1 ประเภทหัวจ่าย Quick จำนวน 1 หัวจ่าย งบประมาณสนับสนุน 700,000 บาท นับเป็นสถาบันการศึกษา 1 ใน 2 แห่งที่ได้รับเลือกให้ได้งบสนับสนุนในรอบแรก และเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุน

 

“ภาครัฐมองว่าในปี 2579 ประเทศไทยจะมีรถยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ แต่เรายังขาดในเรื่องของสถานที่อัดประจุไฟฟ้า ทำให้รถยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โครงการดังกล่าวถือว่าตอบรับกับตลาดอุตสาหกรรมรถยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเป็นอย่างมาก ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยใส่ใจเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต้องช่วยกันในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งเราเป็นวิทยาลัยเอกชนรายแรกที่พร้อมให้การ

 

 

สนับสนุนภาครัฐในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายของ STC ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานาน เมื่อ 2 ปีก่อนเราก็ผลิตรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ STC–1 เพื่อนำไปแข่งขันที่งาน World Solar Challenge ณ ประเทศออสเตรเลีย ในปีนี้เรามีแผนที่จะส่งรถ STC–2 เข้าประกวด ถ้าเรามีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเราจะครบวงจรในฐานะสถาบันการศึกษาที่ทำให้ความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม”

 

สำหรับเป้าหมายของการเข้าร่วมโครงการฯ นั้น วิทยาลัยฯ ต้องการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับการใช้งานสาธารณะเพื่อประชาชนทั่วไป และยังเป็นการส่งเสริมการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในหน่วยงานวิทยาลัยฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าของวิทยาลัยฯ ประกอบด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) จำนวน 1 ชุด และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร่งด่วน (Quick Charge) จำนวน 1 ชุด โดยวางงบประมาณโครงการไว้ที่ 3 ล้านกว่าบาท ในอนาคตจะมีการเพิ่มหัวอัดประจุไฟฟ้าตามความเหมาะสม และความต้องการของตลาด

 

ด้านความพร้อมในการตั้งสถานีประจุไฟฟ้านั้นขณะนี้วิทยาลัยฯ ได้เตรียมพื้นที่สำหรับตั้งสถานีประจุไฟฟ้าแล้ว โดยจะอยู่บริเวณลานหน้าวิทยาลัยฯ ซึ่งเหมาะสมเนื่องจากติดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นถนนหลัก และมีลานสำหรับจอดรถที่รอประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 5 คัน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับจอดรถเพื่อรอเข้าอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถสาธารณะหรือบุคคลภายนอกอีก 100 คัน

 

ส่วนความพร้อมด้านกระแสไฟฟ้า เนื่องจากสถานีอยู่ในตำแหน่งติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเดิมของวิทยาลัยฯ ซึ่งมีหม้อแปลงสำรองขนาด 1,000 kVA อีกทั้งบริเวณนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และร้านกาแฟพาราโกโน่ ฯลฯ

 

“สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกบนถนนจรัญสนิทวงศ์ เราเชื่อมั่นว่าความพร้อมเรื่องสถานที่ และความพร้อมของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งเรานำเข้าจากต่างประเทศจะได้รับการตอบรับจากผู้ที่ใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าในบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์และบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างดี สำหรับค่าบริการการอัดประจุไฟฟ้าอยู่ระหว่างการกำหนด แต่เชื่อว่าจะไม่สูงเหมือนกับภาคเอกชนอื่นๆ” อาจารย์พรพิสุทธิ์ กล่าว

STC 2 STC 4