ทรู คว้า 3 รางวัลนวัตกรรมผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับนานาชาติ ในงาน “12th Taipei International Invention Show & Technomart” (INST 2016) ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน

218_1 218_2

กรุงเทพฯ 6 ตุลาคม 2559 –  บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ (กลาง) หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร พร้อมด้วยทีมงานศูนย์นวัตกรรมกลุ่มทรู โชว์ความสำเร็จของ 2 ผลงานนวัตกรรมที่คว้า 3 รางวัลระดับนานาชาติ จากการเข้าร่วมแสดงผลงานและการประกวดในงาน “12th Taipei International Invention Show & Technomart” (INST 2016) งานแสดงนิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ จัดโดย สภาพัฒนาการค้าต่างประเทศไต้หวัน ณ กรุงไทเป  ประเทศไต้หวัน โดยผลงาน “Kare” แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ คว้า 2 รางวัล คือ รางวัลเหรียญทองแดง จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และรางวัลพิเศษด้านความมุ่งมั่นคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ จากสมาคมส่งเสริมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ประเทศเกาหลี  (Korea Invention Promotion Association) นอกจากนี้ ผลงาน MEM (My Eye Memory) อุปกรณ์จดจำเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ยังได้รับรางวัลชมเชย (Honorable Mention) ในงานดังกล่าว จากผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมดกว่า 327 ผลงาน จาก 12 ประเทศ ทั่วโลก ตอกย้ำศักยภาพและความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจและชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับสากลแล้ว ยังเป็นนวัตกรรมต้นแบบสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้กับนานาประเทศทั่วโลกต่อไปอีกด้วย

 

218_3 218_4

เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น Kare และอุปกรณ์จดจำ (MEM)

 

Kare เป็นแอพพลิเคชั่นการศึกษาที่กลุ่มทรู ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และการปฏิบัติตนตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  สู่การช่วยเหลือตนเองแบบบูรณาการสำหรับเด็กพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้เชิงสถานการณ์ เช่น บ้าน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เพื่อการโต้ตอบปฏิสัมพันธ์ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ และสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองเพื่อการเข้าสู่สังคมได้ดียิ่งขึ้น รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaispecialcare.com

 

อุปกรณ์จดจำ (MEM) หรือ My Eye Memory เป็นผลงานนวัตกรรมที่กลุ่มทรู ได้นำมาพัฒนาต่อยอดร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้สามารถบันทึกข้อมูลด้วยการกดปุ่มตามอักษรเบรลล์ และย้อนกลับไปฟังความถูกต้องได้ รวมถึงแก้ไขข้อมูล ทำสำเนา และส่งข้อมูลที่บันทึกไปยังอุปกรณ์ไอที เพื่อส่งต่อข้อความหรือสร้างเอกสารให้คนอื่นได้ รองรับทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวก ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตา สามารถใช้จดบันทึกการเรียนรู้ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น