อย่าลืม ‘ข้าวแดง’ แกงร้อน

hh1

เมื่อข้าวต่างถิ่นเข้ามาแทนที่ นำมาสู่ภารกิจกอบกู้ข้าวท้องถิ่นให้รอดพ้นจากสถานะ ‘สูญพันธุ์

คำว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ถูกพูดถึงมากมายในหลายปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์เกี่ยวกับอาหารปลอดภัยและยั่งยืนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เป็นที่มาของการระดมสมองเพื่อหาทางออกของปัญหา ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’

แต่สำหรับ ‘ข้าวแดงเมืองเลย’ พันธุ์ข้าวท้องถิ่นของจังหวัดเลยซึ่งมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย และเนื้อสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ คงยังไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องความมั่นคงหรือไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะแค่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ยังไม่รู้จักข้าวพันธุ์นี้เสียด้วยซ้ำ!

เรื่องน่าตกใจระคนเศร้าเรื่องนี้ถูกบอกเล่าผ่านงานวิจัยและปากคำของ แสวง ดาปะ หัวหน้าโครงการวิจัยไทบ้าน บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย

 

คืนสู่เหย้า…ข้าวกลับบ้าน

          แม้ว่าชาวเมืองเลยหลายคนรวมทั้ง แสวง ดาปะ จะเคยได้ยินคำว่า ‘ข้าวแดง’ มาตั้งแต่เด็กจนบัดนี้เขาอายุ 60 ปีแล้ว แต่ในจานข้าวและกระติบของพวกเขากลับมีแต่ข้าวขาวและข้าวเหนียวจากถิ่นอื่น เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาเพราะใครๆ ก็กิน และที่สำคัญชาวนาก็นิยมปลูกข้าวตลาดๆ ด้วย

แสวงเล่าว่าเดิมทีชาวนาแห่งบ้านศรีเจริญปลูกข้าวพันธุ์ผสมจากกรมการข้าวอย่าง กข 6, กข 10 และต้องยอมรับว่าปัจจุบันพื้นที่นาส่วนมากก็ยังถูกข้าวพันธุ์ผสมเหล่านี้ยึดครอง จนกระทั่งวันที่เขาได้พบกับ ‘ข้าวแดง’ ที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ปรากฏตัวเป็นๆ ในงานวิชาการงานหนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าวชื่อว่า ‘แดงเมืองเลย’ แต่อยู่ในบูธของ ถาวร พิลาน้อย เกษตกรชาวยโสธร

“ผมเลยถามพ่อถาวรว่าทำไมข้าวพันธุ์นี้ชื่อแดงเมืองเลย แกก็บอกว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวที่เก็บได้จากจังหวัดเลยตั้งแต่สมัยโบราณแล้วมารักษาพันธุ์ไว้ เพราะยโสธรเขาทำเรื่องพันธุ์ข้าว”

เมื่อรู้อย่างนั้นแสวงจึงขอซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว 5 กิโลกรัม นี่ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อขายข้าวแต่เท่ากับว่าเขากำลังรับญาติผู้พลัดถิ่นกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งในรอบหลายสิบปี

ข้าวแดงเมืองเลยเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของจังหวัดเลย ต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านเล้า อ.วังสะพุง แสวงกับคณะนักวิจัยลงพื้นที่เพื่อหาต้นตอของข้าวแดงเมืองเลยที่บ้านเล้า ก็มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่รู้จัก เขาเล่าว่าตอนที่คนเฒ่าคนแก่เห็นข้าวแดงพันธุ์นี้ก็แสดงอาการดีใจมาก เพราะพวกเขากับข้าวที่เคยลิ้นได้จากกันไปนานแสนนาน และหลายคนเกือบลืมไปแล้วว่ามีข้าวพันธุ์นี้

สถานการณ์ที่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน สปีชี่ส์ (Alien Species) รุกรานชนิดพันธุ์ดั้งเดิมมีให้เห็นในหลายวงการ เช่น พันธุ์ปลาแปลกปลอมที่ถูกนำเข้ามาแล้วถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซ้ำร้ายปลาแปลกปลอมยังกินปลาท้องถิ่นจนกระทั่งปลาท้องถิ่นหลายชนิดเกือบสูญพันธุ์สวนทางกับจำนวนปลาแปลกปลอมที่เพิ่มขึ้นๆ

สถานการณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างกับสิ่งที่ข้าวแดงเมืองเลยต้องเจอ คือ ข้าวเอเลี่ยนได้เข้ามาเบียดบังแทนที่ข้าวท้องถิ่น

“มีช่วงที่ข้าวของกรมการข้าว (กข) เข้ามาตีข้าวพื้นบ้าน ทำให้หายไป เพราะข้าว กข ราคาดีกว่ากว่า เม็ดสวยกว่า ตลาดต้องการเยอะกว่า” หัวหน้าโครงการวิจัยไทบ้านสะท้อนปัญหาข้าวเอเลี่ยนบุกเลย

นอกจากปัจจัยภายนอกที่แทรกซึมเข้ามา ยังมีปัจจัยภายในที่เป็นต้นตอของการจากไปของข้าวแดงเมืองเลย…

“นอกจากข้าวแดงเมืองเลย ยังมีพันธุ์ข้าวท้องถิ่นอีกหลายสายพันธุ์ แต่ข้าวแดงเมืองเลยเป็นข้าวนา ส่วนที่เหลือเป็นข้าวไร่ พื้นที่ร่องภูเขาจึงเหมาะกับปลูกข้าวไร่จึงไม่มีปัญหาสายพันธุ์สูญหายเหมือนกับแดงเมืองเลย”

ทั้งศึกนอกและศึกในจึงทำให้ข้าวแดงกับเมืองเลยต้องลาจากกัน

 

หมู่เฮาคือข้าวแดง

ในหลายวงสนทนามักมีมุกตลกเกี่ยวกับอาหารของนักโทษหรือผู้ต้องขังว่าอยู่ในคุกต้องกินข้าวแดง แต่ในโลกความจริงกับมุกตลกนั้นตรงกันข้าม เพราะปัจจุบันในทัณฑสถานยกเลิกการใช้ข้าวแดงหุงให้ผู้ต้องขังกินแล้วตั้งแต่ปี 2550 ตามหนังสือประทับตราด่วนที่สุดของกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง แนวทางการจัดหาเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2550 ซึ่งผู้ต้องขังทั่วประเทศได้กินข้าวขาวแทนข้าวแดง (ข้าวนกหรือข้าวหักป่นที่ถูกกวาดออกจากลานตากข้าว)

นอกจากนั้นข้าวแดงหลายพันธุ์ยังเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพซึ่งมีมากขึ้นทุกวัน ทั้งข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวที่ยังไม่ผ่านการขัดสี นอกจากคุณค่าทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพแบบชีวจิต กลิ่นและรสชาติก็ถือเป็นจุดแข็งของข้าวแดงเมืองเลย เพราะในงานประกวดข้าวซึ่งจัดที่จ.ยโสธร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ส่งเสริมให้บ้านศรีเจริญส่งข้าวพันธุ์นี้ประกวด ผลคือกวาดมาได้หลายรางวัล

“ในงานประกวดที่ยโสธรความหอมได้ที่หนึ่ง ส่วนความอร่อยได้ที่สาม เพราะน้ำตาลในข้าวมีน้อย” แสวงบอก

เนื่องจากมีน้ำตาลน้อย ข้าวจึงหวานน้อย ยิ่งตอกย้ำว่าเหมาะสำหรับคนรักสุขภาพหรือแม้กระทั่งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

เท่านั้นไม่พอข้าวพันธุ์นี้ยังแกร่งเกินหน้าเกินตาข้าวพันธุ์อื่น จากการปลูกและเก็บข้อมูลตลอดเวลา 4 ปี พบว่าไม่ว่าจะสภาพอากาศแปรปรวนเพราะสภาวะโลกร้อนหรือมีโรคระบาดเกี่ยวกับข้าวแค่ไหน แดงเมืองเลยก็ไม่สะทกสะท้าน

“เรารื้อฟื้นมาได้ 4 ปีแล้ว ในรอบ 4 ปีนี้เราปลูกข้าวแดงเมืองเลยได้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อข้าวของเราเลย ข้าวแดงเมืองเลยต้านทานโรคได้ดี”

เมื่อแข็งแกร่งขนาดนี้ ผู้บริโภคจึงได้รับประโยชน์อีกทอดหนึ่ง เพราะนั่นเท่ากับว่าการปลูกไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อบำรุงหรือรักษาแม้แต่น้อย นอกจากแสวงเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยแล้วเขายังปลูกด้วย เขายืนยันว่าทุกวันนี้ข้าวงอกงามโดยปราศจากปุ๋ยเคมี

“ที่เราทำไม่ได้ใช้สารเคมีเลย ใช้ธรรมชาติล้วนๆ เลย นี่คือลักษณะเด่นอีกอย่าง พวกปุ๋ยเคมีนี่ตัดขาดไปได้เลย ก็ยังปลูกได้ และแตกกอสวยงาม”

ในแง่ผู้ผลิตนี่คือสายพันธุ์ที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตดีเยี่ยม จากข้อมูลวิจัยระบุว่าเป็นข้าวที่ปลูกแล้วไม่ล้ม คือ กรมการข้าวแบ่งการแตกกอเป็น 3 ลักษณะ คือ กอแบะ กอแบ และกอแผ่ แดงเมืองเลยเป็นกอแผ่ คือ ออกทุกด้าน และที่น่าสนใจคือแตกกอสูงสุดเท่าที่ปลูกและวิจัยมาคือ 26 กอ (แต่อาจได้มากกว่านี้ถ้าปลูกที่อื่นซึ่งอุดมสมบูรณ์มากกว่า) และจำนวนเมล็ดมาก แสวงบอกว่า 1 รวงจะได้ 260-280 เมล็ด ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์อื่น

ไม่ว่าจะแข็งแกร่งหรือมีดีแค่ไหน ทว่าปัจจุบันยังไม่มีใครนำไปปลูกขยายพันธุ์เป็นกิจลักษณะ แต่การไปกวาดรางวัลจากการประกวดมาได้ก็จะช่วยปูทางสู่ความนิยมต่อไปได้…หากรักษาแชมป์ได้ต่อไป

“ที่เราประกวดรักษาแชมป์ได้ 5 ปี นอกจากที่มีคนนำพันธุ์เราไปปลูกที่อื่น จะยืนยันได้ว่าสายพันธุ์นี้ถ้าปลูกจุดนี้จะได้ความหอมเยอะกว่าพื้นที่อื่น”

 

ภารกิจ ‘แดงทั้งแผ่นดิน!’

เคยมีคนถามผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดเลยว่ารู้จักข้าวแดงเมืองเลยหรือเปล่า คำตอบที่ได้ช่างน่าเศร้าเพราะแม้แต่คนที่ควรรู้เรื่องท้องถิ่นซึ่งตนกำลังปกครองกลับบอกว่า “ไม่รู้จัก” ทว่าเรื่องเล่าอันน่าเศร้ากำลังถูกแทนที่ด้วยเรื่องน่ายินดีเพราะพันธุ์ข้าวที่เกือบสาบสูญกำลังเป็นที่สนใจอีกครั้ง

“ตอนนี้ทั้งราชภัฎเลย ทั้งจุฬาฯ ก็เข้ามา ไม่นานนี้ศูนย์ข้าวที่อุดรก็โทรมา บอกว่าจะเอาพันธุ์ข้าวนี้ไปวิจัยหาคุณสมบัติให้”

 

“ที่ศูนย์เราปลูก ปีนี้ได้ 17 กระสอบ ชาวบ้านก็เริ่มปลูกแต่ว่าก็ยังไม่เยอะเพราะว่าพันธุ์เราไม่พอ แต่ปีนี้คิดว่าพันธุ์น่าจะขยายได้เยอะ”

ทุกวันนี้ปลูกยังไม่พอขาย

“ชาวนาที่นี่ปลูกข้าวแดงเมืองเลย 38 เปอร์เซ็นต์จากข้าวทั้งหมด เพราะปัญหาอุปสรรคคือเราขยายสายพันธุ์มาได้แค่ 3-4 ปี และที่นาในชุมชนเราเป็นนาตามร่องภูเขา ที่นาจึงไม่เยอะ ที่สำคัญคือเราทำนาต้นเดียวเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดี”

“ชาวบ้านไม่เหมือนท้องถิ่น ไม่เหมือนส่วนราชการ ไม่เหมือนผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ทำงานพวกนี้ เราชาวบ้านก็ใช้ฐานของเครือข่ายชาวบ้าน ทั้งของสกว ทั้งปราชญ์เกษตร ขยายพันธุ์นี้ ถ้ามาเอาพันธุ์นี้กับทีมเราเราก็จะลงทะเบียนไว้ว่าพันธุ์ที่เอาไปจากศูนย์เราไปอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วผลผลิตเป็นอย่างไร สายพันธุ์พัฒนาแตกต่างจากที่นี่ไหม”

“ปีนี้เราทำโรงเรียนชาวนาร่วมกับโรงเรียนในจ.เลย เพื่อให้มันเป็นของเมืองเลยแท้ๆ อย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นความสำคัญ คนเมืองเลยก็กินข้าววันละสามมื้อ แต่ว่าข้าวที่กินไปเป็นสายพันธุ์อื่น”

“ในฤดูกาลทำนาปี 2558 เราจะนำนักเรียนเข้ามาเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่ให้รู้จักวิถี รู้จักช่วงระยะเวลาการทำนา เตรียมอะไรบ้างที่จะลงนา ก่อนการทำนามีอะไรบ้าง สายพันธุ์ข้าวที่เราจะทำโรงเรียนชาวนาร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงเรียน เราจะเน้นเอาพันธุ์ข้าวแดงเมืองเลยนี่ล่ะ จะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้าวแดงเมืองเลยแก่นักเรียนด้วย”

“ไม่เฉพาะนักเรียน แต่ชาวบ้าน ชุมชน ก็จะเอาเข้ามาด้วยกันทั้งผู้ใหญ่และเด็กเลย เราไมได้งบประมาณ แต่เราใช้การประสาน คือไม่ได้บังคับ แต่เอาใจมาว่ากันเลย”