กลุ่มภาคีการศึกษาจังหวัดขอนแก่นผนึกกำลังหนุนโครงการ “Chevron Enjoy Science” ยกระดับ “การศึกษาสะเต็ม” พัฒนาบุคลากรก้าวสู่ “มหานครแห่งอาเซียน”

fdge (1)

กลุ่มภาคีการศึกษาจังหวัดขอนแก่น เปิดแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการศึกษาสะเต็ม เดินหน้าพัฒนา องค์ความรู้ให้แก่เยาวชนเพื่อก้าวสู่เป้าหมาย “มหานครแห่งอาเซียน” ชูแผนความร่วมมือโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ลงพื้นที่พัฒนาทักษะครูวิทย์คณิต และสร้างเครือข่ายวิชาการรวม 123 โรงเรียนทั่วขอนแก่นมากว่า 1 ปี

นายศิวาโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกลุ่มภาคีด้านการศึกษา ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน อย่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาของจังหวัด ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า “แม้จังหวัดขอนแก่นจะถูกยกให้เป็นเมืองหน้าด่านทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางการศึกษา หากนักเรียนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะและความเข้าใจในกลุ่มวิชาสะเต็ม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ

ดังนั้นหนึ่งในยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดขอนแก่น  คือการเสริมรากฐานทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีทักษะด้านสะเต็ม โดยร่วมกับโครงการ “Chevron Enjoy Science” ที่เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ในจังหวัดมากว่า 1 ปี

“ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานครั้งสำคัญในการพัฒนายกระดับองค์ความรู้ให้บุคลากรและเยาวชนในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนโยบายและแนวทางปฏิบัติของโครงการฯ สอดคล้องกับทิศทางขับเคลื่อนการศึกษาสะเต็มของรัฐบาล ทั้งสามารถตอบโจทย์พัฒนาการศึกษาให้กับขอนแก่นได้ตรงจุด ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดในอนาคต  และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของขอนแก่นที่ตั้งเป้าเป็น มหานครแห่งอาเซียน” นายศิวาโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวศันสนา มลายอริศูนย์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งยกระดับการศึกษากลุ่มวิชาสะเต็ม อันเป็นพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค ให้สอดรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตัลเต็มรูปแบบ ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”

 

โดยได้เลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดนำร่อง ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์สะเต็ม (STEM Hub) ในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคนี้ เพราะมีความพร้อมและเป็นศูนย์รวมของสถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และโรงเรียนทุกระดับชั้นจำนวนมาก โดยโครงการฯ นอกจากจะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การฝึกอบรมพัฒนาทักษะของครูผู้สอนแล้ว ยังสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะช่วยให้ครูอาจารย์สามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้แบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการส่งมอบอุปกรณ์กันในวันนี้

“เชฟรอน ในฐานะภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับการศึกษา มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำโครงการ Chevron Enjoy Science เข้ามามีส่วนร่วมเติมเต็มระบบการศึกษาจังหวัดขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์” นางสาวศันสนากล่าว

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมการดำเนินโครงการ Chevron Enjoy Science ในปีแรกว่า โครงการฯ ได้ประชุมสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กว่า 250 คน สร้างเครือข่ายครูแกนนำและครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ ภายใต้เครือข่ายโรงเรียน 123 แห่ง

“ผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้นำทางการศึกษาเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชา     สะเต็มด้วยกระบวนการสืบเสาะและแก้ปัญหา ขณะที่ครูเกิดทักษะการสอนและเริ่มนำไปปรับใช้ในชั้นเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการสนับสนุนครูได้อย่างมีคุณภาพ”

“สำหรับโครงการฯ ปีที่สอง มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเข้ามาเป็นศูนย์กลางประสานขับเคลื่อนติดตาม สนับสนุนการสร้างเครือข่ายครูและผู้นำทางการศึกษา  รวมถึงร่วมกำหนดแผนดำเนินงานระยะยาวหลังเสร็จสิ้นโครงการ 5 ปี” นายปิยะบุตร กล่าว

Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่เชฟรอนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา ประชาสังคม และเอกเชนที่เกี่ยวข้อง ในการมุ่งยกระดับการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ตลอดทั้งระบบ ผ่านการตั้งศูนย์สะเต็ม 12 ศูนย์ และศูนย์อาชีวศึกษา 6 ศูนย์ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน

fdge (2) fdge (3) fdge (4)