กฟผ. ร่วมงาน SETA 2016 ตั้งเป้าเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางพลังงานระดับอาเซียน

Ad SETA 2016 side A4 Thai Edit 1500 080359

 

กฟผ. เดินหน้าสร้างสมดุลพลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หวังงาน SETA 2016 เป็นเวทีสร้างความมั่นใจในระดับนานาชาติ ถึงความพร้อมของชาวไทย สู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานระดับภูมิภาคเอเชีย

 

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. เตรียมนำเสนอแนวทางการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของไทยและการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในเวทีการจัดประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (Sustainable Energy & Technology Asia 2016) หรือ SETA 2016 ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการฯ ไบเทค ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมนี้ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานกว่า 300 คนจาก 15 ประเทศ เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ด้านนโยบายพลังงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานและการคมนาคมขนส่ง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน
และ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย และ Dr. Maximus Johnity Ongkili รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน น้ำ และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย จะกล่าวปาฐกถาบนเวทีในงานนี้ด้วย

 

                “กฟผ.  คาดหวังว่า งาน SETA 2016 นี้ จะเป็นเวทีที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนต่างชาติถึงแนวทางการพัฒนาไฟฟ้าของไทยที่มุ่งสร้างความสมดุลของเชื้อเพลิงทั้งในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน การอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการผลักดัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชียนายสหรัฐ กล่าว

 

สำหรับแนวทางการวางแผนเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2579 หรือ PDP 2015 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลพลังงาน โดยพยายามกระจายความเสี่ยงเรื่องของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลักถึงเกือบร้อยละ 70 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 30 – 40 และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 – 25 ส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 15 – 20 ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ การสร้างสมดุลพลังงานด้วยการลดความเสี่ยงการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมากเกินไป โดยดูแลต้นทุนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

 

นายสหรัฐ กล่าวต่อไปว่า หากประเทศไทยยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงเช่นในปัจจุบัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะค่อยๆ ลดลงและหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าเข้ามาทดแทน และจะมีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถจัดการผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และประเทศที่พัฒนาแล้วให้การยอมรับ เข้ามาทดแทนมากขึ้น และในขณะเดียวกัน กฟผ. ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปด้วย อาทิ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานขนาดเล็ก ของกรมชลประทาน  โดย กฟผ. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 7 โครงการ มีกำลังผลิตรวมประมาณ 70 – 80 เมกะวัตต์ รวมถึงพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

 

ทั้งนี้ ตามแผน PDP 2015 ไทยวางเป้าหมายที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนและพลังงานหมุนเวียน
ในอัตราส่วนร้อยละ 20 ภายในปี 2579 ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการต้นแบบด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อผลักดันเทคโนโลยีพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ พลังงานจากชีวมวล ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลและธรรมชาติ  พลังงานแสงอาทิตย์  ที่ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงกลางวัน พลังงานลม ผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเช้ามืด/ช่วงมรสุม ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไว้ใช้ได้แล้ว แต่มีต้นทุนสูง ยังไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจ่ายไฟฟ้าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักรองรับความต่อเนื่องในการจ่ายไฟฟ้าควบคู่กันไป เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ และสามารถแข่งขันได้กับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ทั้งนี้ ในงาน SETA 2016 นี้ กฟผ. ได้เตรียมส่งพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วเอเชีย อาทิ ASEAN Center for Energy (ACE), Economic Research Institute for ASEAN and East  Asia  (ERIA) และ Institute of Energy Economics, Japan (IEEJ) เป็นต้น และร่วมจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพการดำเนินงานของ กฟผ. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงานด้วย นอกจากนั้น กฟผ. ยังร่วมจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง กฟผ. มีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนภายใต้โครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า “อาเซียน พาวเวอร์ กริด” (ASEAN POWER GRID: APG) รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า และเทคโนโลยี LED เป็นต้น

Cover_18-2-16-05

LogoEGAT(E)