สบร. เดินหน้าพัฒนาสนามเด็กเล่น “นครสวรรค์โมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้หลักการพัฒนาสมอง BBL ระดับประเทศ

DSC_0222

นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กำลังจะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้บุคลากรการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครูและผู้ปกครองต่างเร่งมองหากิจกรรมที่จะช่วยให้บุตรหลานเด็กไทยสามารถพัฒนาศักยภาพสมองได้แม้อยู่นอกนอกห้องเรียนโจทย์ยากที่ต้องตีให้แตก คืออนาคตของชาติต้องมีความสุขในการเรียนรู้ และผลลัพธ์ที่ได้ต้องช่วยให้เด็กไทยเกิดการพัฒนาสมองได้ในที่สุดซึ่งคำตอบที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้คือ เราต้องจัดการเรียนรู้ตามแนวทางพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning) โดยสำหรับเด็กปฐมวัย จะเน้นไปที่การสร้างสนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยขณะนี้ต้นแบบทั้ง 4 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังเดินหน้าพัฒนาต่ออย่างไม่หยุดยั้งด้วยการระดมพลังสมองของผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษา พร้อมสร้างโรดแมพให้โรงเรียนทั่วประเทศเดินตามรอยเส้นทางความสำเร็จ

 

จากโครงการความร่วมมือในการพัฒนาสนามเด็กเล่นตามรอยพระยุคลบาท ระหว่าง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์เขต 1ตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ปรากฎผลสำเร็จที่น่าประทับใจ  โดยในปัจจุบันเกิดสนามเด็กเล่น BBL สมบูรณ์แบบในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้ถึง 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนอนุบาลเมืองนครสวรรค์ (เขากบ วิวรณ์สุขวิทยา) 2.โรงเรียนวัดบ้านมะเกลือ 3.โรงเรียนวัดหนองโรง และ 4.โรงเรียนเขาทอง และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและเห็นผลสัมฤทธิ์กับเด็กไทยทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องขยายต่อเนื่องในปีการศึกษา 2559 โดยให้ทั้ง 4 โรงเรียนดังกล่าว กลายเป็นต้นแบบ “สนามเด็กเล่น BBL” และ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่มีกระบวนการทำงานอย่างชัดเจนพร้อมให้สถานศึกษาอื่นๆนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งที่ผ่านมา หลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคกลางตอนเหนือ อย่างพิจิตรและกำแพงได้เดินทางมาศึกษาดูงานแล้วนำกลับไปขยายงานต่อบ้างแล้ว

ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการและจัดการความรู้  สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. เปิดเผยว่าจากความร่วมมือกันทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้ง และเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาโดยตลอด ตั้งแต่ความเข้าใจหลักการ BBL ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง ขยายต่อไปยังชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาสมอง ทำให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้นี้จะต้องถ่ายทอดส่งต่อให้ชุมชนอื่นๆได้อีกด้วย

“เราพยายามผลักดันให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตามแนวทางพัฒนาสมองมาตลอด 10 ปี ซึ่งปัจจุบันถือว่าประสบผลสำเร็จน่าพึงพอใจ เพราะเราสามารถสร้างต้นแบบสนามเด็กเล่น BBL (Brain-Based Learning)ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเริ่มจากนครสวรรค์ และมุ่งสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอีก183 แห่ง พร้อมกระจายไปยังสถานศึกษากว่า 1,900 แห่งทั่วประเทศจากนี้เราก็จะมองถึงการสนับสนุนในด้านต่างๆให้มากขึ้น เช่น ที่ปรึกษากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทาง BBL เพื่อให้หลายๆสถานศึกษานำมาปรับใช้ให้สอดรับกับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ตามแนวทางพัฒนาสมอง เราต้องเดินหน้าจัดอบรมเรื่องนี้แก่ทั้งผู้บริหารโรงเรียนและศึกษานิเทศก์ต่อไป”

นอกจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจะช่วยตอกย้ำว่าระบบการศึกษาไทยควรนำหลักการ BBL ไปใช้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังจำเป็นต้องระดมความคิดเห็นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนกลางผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา พร้อมด้วยนักจัดการความรู้จากสบร. ร่วมกับองค์กรการศึกษาของนครสวรรค์ และผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูผู้ดูแลโครงการ มาร่วมกันวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษา

ทั้ง 4 โรงเรียนต้นแบบต่างลงความเห็นว่าทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และมีการใช้เทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนว่าเหมาะสมจะเรียนรู้ด้วยวิธีการใดบ้างซึ่งโครงการต่อเนื่อง อย่าง “โครงการฉันทศึกษา” คือเป้าหมายต่อไปที่จะช่วยทำให้เด็กไทยพัฒนาสมองจากการเรียนรู้โดยแต่ละโรงเรียนมองถึงการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ด้านต่างๆของเด็กๆเข้ากับวิถีเกษตรธรรมชาติ วัฒนธรรมความเป็นอยู่และเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนเตรียมความพร้อมนำความรู้สู่การประกอบอาชีพ ยกตัวอย่าง กิจกรรมทำขนมไทย ดนตรีในสวน (อังกะลุง) น้ำยาล้างจานสมุนไพร เป็นต้น ขณะเดียวกันทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องสร้างคุณค่าอย่างสูงสุดให้กับเด็ก ทั้งความเชื่อมั่นและภูมิใจในตนเอง และอิสระในการเลือกทำกิจกรรมที่ตนสนใจและมีความถนัด

ผศ.ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผศ.ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ ที่ปรึกษางานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กิจกรรมต่างๆเหล่านั้น ควรบูรณาการวิชาการต่างๆที่มีอยู่ เชื่อมโยงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ในห้องเรียน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเด็กๆควรได้เรียนรู้จากเพื่อนด้วยกันเองด้วย และควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ปกครองเข้าไปด้วย โดยมองหาคนเก่งของชุมชนเพื่อมาเป็นครูภูมิปัญญาชาวบ้านของเด็กๆ

ร้อยเอกนิวัตต์ หาญสมุทร์ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเขาทอง กล่าวสนับสนุนแนวทางสร้างสรรค์ตามหลักการ BBL ว่าจะช่วยให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ อย่างน้อยสนามเด็กเล่นที่มีคุณภาพของโรงเรียน ก็เป็นหนึ่งในแรงจูงใจให้เด็กๆอยากมาโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยังอยากให้เพิ่มเติมองค์ความรู้เสริม อย่าง วินัยขั้นพื้นฐาน สิทธิหน้าที่และการมีส่วนร่วม รวมทั้งการดูแลรักษาพื้นที่การเรียนรู้ของตนเอง นอกจากนั้นยังมองถึงการสร้างความรู้เข้าใจหลักการ BBL สู่ผู้ปกครองทุกๆคนด้วย เพื่อให้เกิดการสานต่อไปถึงตัวเด็กๆ และเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ครบวงจร

DSC_0194 DSC_0248