Online Shopping แรงผลักสำคัญดันธุรกิจไทยโต

 

on

แนวโน้มของธุรกิจ Online Shopping ของไทยในระยะข้างหน้านั้นน่าจะเป็นช่องทางการตลาดที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น โดยสะท้อนได้จาก บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี หรือแม้แต่ธุรกิจ Online Shopping ของต่างชาติ ต่างสนใจเข้ามาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในไทยกันมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของตลาด

ในขณะที่ พฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น สัญญาณดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงภาพรวมตลาด Online Shopping ไทยที่มีโอกาสเติบโตสูง และมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ จากความก้าวหน้าของการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านโครงข่าย 3G/4G บนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในปี 2558 น่าจะมีประมาณ 33 – 34.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 18.3 ล้านคนในปี 2556

ประกอบกับการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ไอทีแบบเดิมอย่างคอมพิวเตอร์ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของความสะดวกสบายในการพกพาและการใช้งาน จึงน่าจะผลักดันให้การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “M-Shopping” กลายเป็นช่องทางใหม่ที่มาแรง และน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยหนุนการเติบโตในภาพรวมของธุรกิจ Online Shopping ไทยในระยะต่อจากนี้ไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ อาจจะต้องมองต่อยอดไปถึงการพัฒนาการใช้งานของเว็บไซต์ในรูปแบบที่เหมาะสมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะหันมาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์แบบ M-Shopping มากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจ Online Shopping ของไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชน และพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นหลัก

on2

แต่ถึงกระนั้น ต้องยอมรับว่า การดำเนินธุรกิจ Online Shopping ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือร้านค้ารายย่อย (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนร้านออนไลน์ทั้งหมด ) กับกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มเท่านั้น ในขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืนยันความมีตัวตนของร้านค้าออนไลน์ ความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน และความเชื่อมั่นต่อสินค้าและบริการ

ดังนั้น หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างความเชื่อมั่นและขจัดข้อกังวลดังกล่าวไปได้ ก็น่าจะมีส่วนผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจ และหันมาสนใจใช้บริการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้นได้ในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่มีความพยายามผลักดันแผนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ Digital Economy ทั้งในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Online Shopping ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น

รวมถึงการผลักดันในเรื่องของโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานหรือโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภค ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ธุรกิจ Online Shopping เติบโตขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในวงกว้าง และยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่จะนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดเก็บข้อมูล การตรวจสอบสต็อกสินค้าต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ การใช้เป็นช่องทางในการทำการตลาดผ่านธุรกิจ Online Shopping เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองก็ต้องพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับตลาด Online Shopping ที่ขยายใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ระบบการจัดส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ และระบบการชำระเงิน

และที่สำคัญผู้บริโภคควรจะต้องตรวจสอบข้อมูล และความน่าเชื่อถือของร้านค้าออนไลน์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ   Online Shopping ในประเทศไทย แต่ยังหมายรวม ถึงการเชื่อมโยงการค้าจากทั่วทุกมุมโลกผ่านธุรกิจ Online Shopping อีกด้วย