สวทน.รับไม้ต่อจากนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ ๔.๐ จับมือ สถาบันพระจอมเกล้า จัดโครงการ บิสซิเนสบราเดอร์ฮูด ปั้นทีมนักศึกษาสู่วงการ สตาร์ทอัพ

สวทน.รับไม้ต่อจากนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ ๔.๐ จับมือ สถาบันพระจอมเกล้า จัดโครงการ  บิสซิเนสบราเดอร์ฮูด   ปั้นทีมนักศึกษาสู่วงการ สตาร์ทอัพ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ  กล่าวว่า  ”จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญ  ทางสวทน. จึงเป็นผู้จัดการ บริหาร โครงการสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นหลาย ๆ โครงการ   บิสซิเนสบราเดอร์ฮูด  (Business Brotherhood) นั้นเป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิ ภาพ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจ และมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ และมีสวทน.เป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดการกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยและธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทยในอนาคต  สวทน.เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจาก –   มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีเครือข่ายของกิจการขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยง เนื่องจากมีเทคโนโลยีและเครือข่ายการค้าระดับโลก การส่งเสริมให้กิจการขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จสูงขึ้น   โดย สวทน. และเครือข่ายพันธมิตร ได้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ระหว่างกิจการขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัยขึ้น โดยในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 ศูนย์ ทั่วประเทศ ดังนี้ 1. จุฬาลงกรณ์ – มหาวิทยาลัย 2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 8. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9. มหาวิทยาลัยบูรพา 10. มหาวิทยาลัยพะเยา 11. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 12. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 13. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 15. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทั้งนี้ ทั้ง 15 ศูนย์ข้างต้น จะทำหน้าที่เร่งการเติบโตทางธุรกิจ และสร้างช่องทางให้กิจการขนาดใหญ่สามารถร่วมมือทางธุรกิจกับธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพสำนักงาน”

ดังนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ  ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดโครงการบิสซิเนส บราเดอร์ฮูด  ( Business Brotherhood ) ขึ้น  โครงการนี้ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 เดือน  เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน 2561 ตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดรับสมัคร  จนถึงช่วงเดือนกันยายน  เป็นช่วงเวลาของการส่งผลงานและการจัดแสดงผลงาน

 

ทางด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำโดย  ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  จึงได้เปิดโครงการบิสซิเนส บราเดอร์ฮูด (Business Brotherhood ) ขึ้น  มีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพโดยเป็นความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชน  ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป  หรือในหนึ่งทีมจะเป็นการรวมตัวกันมากกว่าหนึ่งสถาบันก็ได้ ทีมหนึ่งกำหนดให้ได้จำนวนสมาชิกในทีม  3-5  คน   โดยมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินคือภาพรวมของโมเดลธุรกิจ และความคิดสร้างสรรค์ของผลงาน ปัจจุบันภาพรวมของการเรียนการสอนในสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะเป็นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่เมื่อนักศึกษาได้เข้าร่วมโครงการแล้วจะได้รับการอบรมในหลาย ๆ ด้าน   อาทิ การออกแบบความคิด  (Design Thinking ) การออกแบบธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ การวางแผนการตลาด  การดำเนินงานและเทคนิคการนำเสนองานให้น่าสนใจ”

“ในปีหนึ่ง ๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพจำนวนมาก ทั้งจากงานวิจัยของคณาจารย์และโครงงานของนักศึกษา แต่หลายครั้งการต่อยอดเชิงพาณิชย์ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หลายครั้งก็ประสบกับอุปสรรคที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้เนื่องจากนักวิจัยและนักศึกษาเองยังขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจ โครงการบิสซิเนส บราเดอร์ฮูด (Business Brotherhood )  จึงนับว่าเป็นโครงการที่มาช่วยแนะนำและให้ความรู้จากพี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพที่ยังต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์ ในปีนี้ เป็นปีที่สองที่ทางบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด  (มหาชน) ได้ร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพในการให้ความรู้และข้อแนะนำเชิงธุรกิจหลาย ๆ ด้าน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่ละท่านก็นับว่าคัดสรรมาเพื่อช่วยเหลือในส่วนของข้อมูลที่กลุ่มสตาร์ทอัพยังขาดอยู่  นับว่างานนี้น้อง ๆ สตาร์ทอัพได้ข้อมูลแบบพูน ๆ เลยก็ว่าได้ “ผศ.ดร. รัชนี กุลยานนท์ กล่าวในตอนท้าย

โครงการบิสซิเนส บราเตอร์ฮูด (Business Brotherhood)   ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2  มีนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบ 13 ทีม และ เหลือ 7  ทีม   มีที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนทั้งหมด 7  ท่าน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 15  ท่าน

โครงการที่เข้ารอบ 7 ทีมประกอบไปด้วย 1. ทีม T Bike  เป็นทีมที่เกี่ยวข้องการการให้ยืมรถจักรยานด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด  ช่วงเวลานี้มีให้บริการในมหาวิทยาลัย  ในอนาคตอาจะขยายไปที่มหาวิทยาลัยอื่น หมู่บ้าน   ทีมที่ 2 ทีม เพียวริแอร์ แคน เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดพกพา ที่เลือกกรองอากาศได้  มีความพิเศษและไม่เหมือนใครอยู่หลายประการ เช่น สามารถเชื่อต่อได้ทั้ง มีทั้งบลุธูทและไวไฟ  ทีมที่ 3 ทีม.  มูฟเวอร์  เป็นแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับบุตรหลานที่ขึ้นรถโรงเรียน สามารถวางเส้นทางการขับขี่และตรวจสอบเส้นทางเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้ว่าบุตรหลายอยู่จุดใด ทีมที่ 4 เพอเพิล คัพ เป็นแอพพลิเคชั่นด้านไลฟ์สไตล์ ที่เกี่ยวกับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟแบบเฉพาะเจาะจงรสชาด จะช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านกาแฟที่มีคุณภาพและยาก หากทางร้านมาร่วมกิจกรรมกับแอพพลิเคชั่นนี้จะมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นและมีโอกาสเพิ่มยอดขาย    ทีมที่ 5 ทีม สเตชั่น อะเลิต  เป็นทีมที่แก้ปัญหาเกี่ยวกับการที่ผู้โดยสารเล่นมือถือจนนั่งรถเลยสถานี จึงให้มีระบบการแจ้งเตือนก่อนจะถึงสถานีปลายทาง   ทีมที่ 6.  ทีมเกิตเทิล   Platform รองรับผู้จัดการเรื่องการแข่งขันกีฬาeSPOTRs กีฬาที่กำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน ทีมที่ 7 ทีมโคดิ จะเป็นทีมที่ส่งผลงานด้านการเว็บไซต์โปรแกรม IOT  พร้อมสำหรับนำไปใช้งานได้จริง  โดยผู้ใช้งานไม่ต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาเองให้เสียเวลา เหมาะที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการลดเวลาการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของงาน IOT  ผล ผลงานทั้งหมดมีความสนใจและพร้อมที่จะต่อยอดไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในวงกว้าง