ธรรมศาสตร์ ปลื้ม “หอสมุดฯ” เข้าร่วมเครือข่ายห้องสมุดระดับโลก พร้อมยกระดับการให้บริการ

 ธรรมศาสตร์ ปลื้ม “หอสมุดฯ” เข้าร่วมเครือข่ายห้องสมุดระดับโลก
พร้อมยกระดับการให้บริการ

กรุงเทพฯ 18 มิถุนายน 2561 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  ชูความร่วมมือกับเครือข่ายห้องสมุดโอซีแอลซี (OCLC : Online Computer Library Center) หน่วยงานเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  มีสมาชิกห้องสมุดและองค์กรการวิจัย (Research Organization) กว่า 16,000 แห่ง จาก 124 ประเทศทั่วโลก โดยประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือคือ การเข้าถึงฐานข้อมูลห้องสมุดระดับโลก บริการยืมหนังสือข้ามห้องสมุดเวิลด์แชร์ การสืบค้นข้อมูลทั่วโลก โดยความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายคือการขยายขอบเขตการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากร มธ. สอดรับกับวิสัยทัศน์ของหอสมุด มธ. คือ “เป็นหนึ่งผู้นำด้านส่งเสริมการเรียนรู้และการวิจัยทุกที่ทุกเวลาในระดับเอเชีย”

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรและโสตทัศนศึกษา หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-613-3506 เว็บไซต์ https://library.tu.ac.th หรืองานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ www.tu.ac.th

ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากแนวโน้มการพัฒนารูปแบบห้องสมุดให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักค้นคว้าที่หลากหลาย  ส่งผลให้ห้องสมุดทั่วโลกตระหนักถึงการเข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด โดยหนึ่งในเครือข่ายห้องสมุดที่รับความนิยมในระดับสากล คือ โอซีแอลซี (OCLC : Online Computer Library Center) หรือ หน่วยงานเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2561 ผู้อำนวยการหอสมุดฯ มธ. ได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการบริหาร เครือข่ายห้องสมุดโอซีแอลซีภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนในการกำหนดนโยบายและพัฒนาการดำเนินงานให้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในเครือข่าย ให้สามารถแบ่งปันข้อมูล และช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์ของนักวิจัยและผู้ที่ต้องการค้นคว้าหาข้อมูล อย่างไรก็ตามปัจจุบัน โอซีแอลซี มีสมาชิกห้องสมุดและองค์กรการวิจัย (Research Organization) รวมมากกว่า 16,000 แห่ง จาก 124 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของโอซีแอลซี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551

ผศ.เอกรินทร์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์ที่หอสมุดฯ ได้รับคือ 1. การสืบค้นรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลกผ่านระบบเวิลด์แคท (WorldCat) 2. บริการยืมทรัพยากรสารสนเทศในรูปสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระหว่างห้องสมุดผ่านระบบเวิลด์แชร์ ไอแอลแอล (WorldShare ILL: WorldShare Interlibrary Loan) 3. มีระบบ EZproxy เพื่อให้บริการการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์เมื่ออยู่นอกระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย เป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งทุกขั้นตอนการพัฒนางานของหอสมุด มธ. ล้วนเป็นไปเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของ มธ. ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหอสมุด มธ. คือ “เป็นหนึ่งผู้นำด้านส่งเสริมการเรียนรู้และการวิจัยทุกที่ทุกเวลาในระดับเอเชีย”

            ปัจจุบันห้องสมุดมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการจากเดิมไปสู่การบริการแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลดีกับแวดวงวิชาการ และผู้ที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดเพียงแห่งเดียวหรือห้องสมุดภายในประเทศจึงอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างครอบคลุม การเข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้เป็นอย่างดี ผศ.เอกรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรและโสตทัศนศึกษา หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-613-3506 เว็บไซต์ https://library.tu.ac.th หรืองานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ www.tu.ac.th